ไม่อยากเป็นต่อมลูกหมากโต อย่ามองข้ามมะเขือเทศ

Last updated: 15 ก.ย. 2565  |  277 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไม่อยากเป็นต่อมลูกหมากโตอย่ามองข้ามมะเขือเทศ

ไม่อยากเป็นต่อมลูกหมากโต อย่ามองข้ามมะเขือเทศ
ภาวะต่อมลูกหมากโต ( Benign prostate hyperplasia; BPH ) เป็นความผิดปกติที่พบได้ถึง 80% ของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับ ต่อมลูกหมาก ซึ่งสาเหตุของโรคยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่เชื่อว่าอายุ ที่เพิ่มขึ้น ระดับฮอร์โมน testosterone ที่ลดลง และระดับของฮอร์โมน dihydrotestosterone (DHT) ที่เพิ่มขึ้น จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดภาวะ ต่อมลูกหมากโต อาการที่พบคือ ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งปัสสาวะแรงๆ ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน ใช้เวลาในการปัสสาวะนาน รู้สึกว่าถ่ายปัสสาวะไม่หมด กลั้นปัสสาวะ ได้ไม่นาน ต้องการปัสสาวะ ทันทีและอาจพบการติดเชื้อได้

การรักษาในปัจจุบัน จะเริ่มต้นด้วยการรอดูอาการ ซึ่งในระหว่างนั้นผู้ป่วยต้องงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ไม่รีบปัสสาวะ เลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ก่อนนอน เพิ่มการรับประทานผัก และผลไม้ เพื่อไม่ให้ท้องผูก และเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด ที่อาจกระตุ้นให้อาการเพิ่มขึ้น หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการใช้ยา ( เช่น -blockers, 5 -reductase inhibitors,muscarinic receptor antagonists, phosphodiesterase5 inhibitors เป็นต้น ) การผ่าตัด หรือให้ความร้อนที่มีแหล่งพลังงาน จากคลื่นไมโครเวฟ
ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ และนอกจากการรักษาแผนปัจจุบัน การใช้สมุนไพรหรือสารสกัดจากสมุนไพร ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการของภาวะ ต่อมลูกหมากโต และสมุนไพร ที่หาได้ง่าย และมีงานวิจัยยืนยันว่าสามารถใช้บรรเทาภาวะ ต่อมลูกหมากโต ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ มะเขือเทศ

มะเขือเทศ
มะเขือเทศ หรือ Tomato มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycopersicon esculentum Mill. ชื่อพ้องคือLycopersicon esculentum Mill. เป็นพืชในวงศ์ SOLANACEAE สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ส่วนผลและน้ำคั้น ใช้เพื่อทำให้เด็กอาเจียน (ล้างสารพิษ) ห้ามเลือด ลดข้อบวม นิ่วน้ำดี นิ่วที่ไต ลดไข้ และช่วยระบาย นอกจากนี้มะเขือเทศยังเป็นเป็นแหล่งวิตามิน A, B, C, E และ โพแทสเซียมด้วย ส่วนที่นำมาใช้เพื่อบรรเทาภาวะต่อมลูกหมากโตคือ ผลสด หรือผลที่ผ่านกระบวนการต่างๆ โดยมีสารสำคัญคือ สารไลโคพีน (lycopene) ซึ่งเป็นแคโรทีนอยด์ชนิดหนึ่ง

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
รายงานการวิจัยจำนวนมาก ระบุว่าสารไลโคพีนในมะเขือเทศ สามารถบรรเทาภาวะ ต่อมลูกหมากโต ได้ โดยสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ ต่อมลูกหมาก ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5 -reductase ยับยั้งการสร้าง androgen receptor และทำให้ค่า prostate specific antigen (PSA) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเกิดความผิดปกติของ ต่อมลูกหมาก มีค่าลดลง

นอกจากนี้ มะเขือเทศ ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ต้านการอักเสบ ช่วยลดไขมันและน้ำตาลในเลือด และมีฤทธิ์ต้านมะเร็งหลายชนิด สำหรับการศึกษาความเป็นพิษพบว่า มะเขือเทศ มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษของการบริโภค มะเขือเทศ ในรูปแบบของอาหารเลย แต่หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้ผิวหนังมีสีเหลืองส้ม ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไปเมื่อหยุดรับประทาน และในรายที่มีอาการแพ้มะเขือเทศ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง หรือไม่อยากอาหารได้การทดสอบค่าความเป็นพิษพบว่า ขนาดของสารไลโคพีนที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือมากกว่า 5 ก./กก.

การศึกษาทางคลินิก
การทดลองทางคลินิกจำนวนมาก เช่นกันที่ระบุว่า สารไลโคพีน ช่วยบรรเทาภาวะ ต่อมลูกหมากโต ได้โดยให้ค่า PSA ของผู้ป่วยลดลง เมื่อให้ผู้ป่วยรับประทานสารไลโคพีนในขนาด 15 มก./วัน นาน3-6 เดือน ซึ่งสารไลโคพีนทำให้ขนาดของ ต่อมลูกหมาก ไม่ใหญ่ขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกและการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยสารไลโคพีนอย่าง มะเขือเทศ สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก รวมทั้งช่วยลดขนาดและยับยั้งการลุกลามของเซลล์ มะเร็ง ดังกล่าวได้

โดยทั่วไปเรามักได้ยินว่าการรับประทาน ผักสด นั้นดีที่สุด เพราะจะทำให้ได้คุณค่าทางอาหารสูงสุดแต่หลักการดังกล่าวนั้นใช้ไม่ได้กับ มะเขือเทศ เพราะหากต้องการให้ได้รับสารไลโคพีนจากมะเขือเทศเยอะๆเราควรรับประทาน มะเขือเทศ ที่ผ่านกระบวนการ เช่น การปรุงสุกด้วยความร้อน การบีบอัด หรือการบดละเอียด เพื่อให้สารไลโคพีนที่อยู่ในเซลล์พืชถูกปลดปล่อยออกมา จากการเปรียบเทียบปริมาณของไลโคพีนใน มะเขือเทศ รูปแบบต่างๆ ที่ขนาด 100 ก. พบว่ามีปริมาณของไลโคพีนเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ผลิตภัณฑ์ มะเขือเทศเข้มข้น > มะเขือเทศผง > ซอสมะเขือเทศ > น้ำมะเขือเทศ > ซุปมะเขือเทศเข้มข้น >มะเขือเทศปรุงสุก > มะเขือเทศสด

นอกจาก มะเขือเทศ แล้ว “ฟักข้าว (Gac)”
ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีสารไลโคพีนสูง (มากกว่ามะเขือเทศ 76 เท่า) ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้เพื่อบรรเทาและป้องกันภาวะ ต่อมลูกหมากโต รวมทั้งลดความเสี่ยงของการเกิด มะเร็งต่อมลูกหมาก ได้

นอกจาก มะเขือเทศ แล้ว สมุนไพรที่มีงานวิจัยว่าสามารถบรรเทาภาวะ ต่อมลูกหมากโต ยังมีอีกหลายชนิด เช่น ปาล์มใบเลื่อย (Saw palmetto) ปาล์มขวด (Royal palm) ข้าวไรย์ (Rye) ฟักทองข้าวเจ้า(Pumpkin) และตำแยฝรั่ง (Stinging nettle) ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆแต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช้แบบเดี่ยวๆ เนื่องจากประสิทธิภาพยังน้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน การใช้จึงเป็นในลักษณะของการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกันและกัน อีกทั้งยังเป็นการลดผลข้างเคียงหรืออาการอันไม่พึ่งประสงค์จากการสมุนไพรหรือยาเพียงอย่างเดียวด้วย

รับข่าวสารก่อนใครคลิกเลย 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้