ปัสสาวะบ่อย มีอาการคล้ายปัสสาวะไม่สุด รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย

Last updated: 7 ต.ค. 2565  |  289 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปัสสาวะบ่อย คล้ายปัสสาวะไม่สุด

ปัสสาวะบ่อย มีอาการคล้ายปัสสาวะไม่สุด รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย
กลั้นปัสสาวะบ่อย จนปัสสาวะได้น้อย มีอาการปวดบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขุ่น อาการเหล่านี้ อาจกำลังบอกว่าเป็น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หลายคน มักจะ อดทนกับความทรมาน หายากินเอง และมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้หรือไม่ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้ออื่นๆ ตามมาได้อีกมากมาย

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออะไร
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือ Cytstitis เป็นหนึ่งใน โรคทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ (Urinary tract infection) มักพบในผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย เนื่องด้วยสรีระและกายวิภาคของเพศหญิง ที่ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ ได้มากกว่าเพศชาย

โดยช่วงอายุที่พบมากคือ 20 ปีขึ้นไป ปัจจัยสำคัญที่พบบ่อยครั้ง คือการมีพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะนาน หรือกลั้นปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะวัยทำงาน ทำให้ ปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ เชื้อโรคที่มีอยู่ในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้

อาการของ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  ปัสสาวะบ่อย กะปริดกระปรอย ครั้งละน้อยๆ มีอาการคล้าย ปัสสาวะไม่สุด
  รู้สึก ปวดบริเวณท้องน้อย ปวดแสบ ขัด ร้อนขณะปัสสาวะ โดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด
  ปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ
  ปัสสาวะมีเลือดปน
  มักไม่มีไข้ ( ยกเว้นถ้ามีกรวยไตอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะสีขุ่น และมีปวดเอวร่วมด้วย )
  ในเด็กอาจมี อาการปัสสาวะรดที่นอน มีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน อ่อนเพลีย
  ในผู้สูงอายุบางคน จะไม่มีอาการทางปัสสาวะ แต่จะมีอาการอ่อนเพลีย สับสน หรือมีไข้ได้

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากอะไร แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

เกิดจากการ ติดเชื้อแบคทีเรีย
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะ เชื้อแบคทีเรีย E. coli (Escherichia coli) ซึ่งพบได้มากถึง 75-95% และ เชื้อแบคทีเรียเคล็บซิลลา ซึ่งเป็นเชื้อที่มีอยู่มากในลำไส้ และบริเวณรอบๆ ทวารหนัก เชื้อเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การรักษาสุขอนามัยของร่างกาย ได้ไม่ดีพอ การมีเพศสัมพันธ์ การใช้กระดาษชำระเช็ดหลังปัสสาวะผิดวิธี การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นต้น โดยในผู้ชายจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อย เนื่องจากมี ท่อปัสสาวะยาว และอยู่ห่างจากทวารหนัก
เชื้อโรคเหล่านี้ จึงมักลักลอบเข้าไปอยู่ใน กระเพาะปัสสาวะ ของเราโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเราถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่ปวดร่างกายก็จะสามารถขับเอา เชื้อโรคนั้นออกมาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ทำให้เกิดการ อักเสบของกระเพาะปัสสาวะ แต่หากกลั้นปัสสาวะนานๆ เชื้อโรคก็จะมีการเจริญเติบโตมากขึ้น

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จากการ ติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาได้โดย
  การรับประทานยาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยระยะเวลาในการรับประทานยา จะขึ้นอยู่กับชนิดของยา และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ตามความเหมาะสม
  การรักษาโดยให้ยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด, ยาคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
  ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจสั่งจ่ายครีมสำหรับใช้ทาช่องคลอด ซึ่งเป็นฮอร์โมนทดแทน เนื่องจากในวัยหมดประจำเดือน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะของร่างกาย ทำให้แบคทีเรีย ที่อยู่ในช่องคลอดเสียสมดุล จึงไวต่อการติดเชื้อและระคายเคืองได้ง่าย
  ดื่มน้ำให้มากขึ้น
  หากมีการติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 2 ครั้งใน 6 เดือน หรือ 3 ครั้งในหนึ่งปี ควรต้องเข้ารับการ ตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของการเกิดการติดเชื้อ

ไม่ได้เกิดจากการ ติดเชื้อแบคทีเรีย
เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย แต่ก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
  การใช้ยา ส่วนประกอบในยาบางชนิด อาจมีผลต่อการอักเสบ หรือ ระคายเคืองของกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะยาเคมีบำบัด เช่น cyclophosphamide
  มีประวัติการฉายรังสี บริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้เนื้อเยื่อภายในกระเพาะปัสสาวะ บริเวณที่โดนฉายรังสี เกิดการอักเสบขึ้นได้
  สิ่งแปลกปลอมภายนอก เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการติดเชื้อ และ ทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบตามมา
  ปัญหาสุขภาพอย่างอื่น หรือโรคประจำตัว เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ, ภาวะต่อมลูกหมากโต หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง ที่ส่งผลต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะ เป็นต้น

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่เกิดได้จากสาเหตุอื่น
  ควรหลีกเลี่ยงปัจจัย ที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรค เช่น หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่สร้างความระคายเคืองต่อ กระเพาะปัสสาวะ
  รักษาแบบบรรเทาและตามอาการของผู้ป่วย

หากกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้ว ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เชื้ออาจแพร่กระจายไปจนถึง กรวยไต ทำให้กรวยไตอักเสบ และอาจจะสร้างความเสียหายกับไต อย่างถาวรได้ อาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง ปวดเอว ไข้สูง หนาวสั่น ยิ่งหากมีการอักเสบติดเชื้อรุนแรง อาจลุกลามเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด จนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับผู้ชายเชื้อก็อาจลุกลามเข้าไปทำให้ ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือ อัณฑะอักเสบ ขึ้นได้อีกด้วย

ในปัจจุบัน โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะผู้หญิงวัยทำงาน ซึ่งอาจเกิดได้หลายปัจจัย เช่น รู้สึกไม่อยากเข้าห้องน้ำ ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เพราะกลัวห้องน้ำไม่สะอาด กลัวเชื้อโรคจากเข้าห้องน้ำสาธารณะ ร่วมกับผู้อื่น การชำระล้างทำความสะอาด ที่ไม่ถูกวิธี หรือการใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานาน รวมถึงการดื่มน้ำน้อย ดังนั้น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จึงเป็นโรคที่เรียกว่า โรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรม ซึ่งหากเป็นซ้ำๆ หลายครั้ง ก็มีโอกาสพบเชื้อโรคที่ดื้อยา มากขึ้นเรื่อยๆ และอาจจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ทีมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ยังสามารถพัฒนากลายเป็น โรคกรวยไตอักเสบ ได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นหากมีอาการ ปัสสาวะบ่อย กะปริดกระปรอย ครั้งละน้อยๆ มีอาการคล้าย ปัสสาวะไม่สุด รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย ปวดแสบ ขัด ร้อนขณะปัสสาวะ โดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด ควรรักษาอย่างถูกวิธี

รับข่าวสารก่อนใครคลิกเลย 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้